เหนื่อยแทบขาดใจ มาตรา 44/1
เมื่อวานได้ไปให้ปากคำที่สำนักงานคุมประพฤติจังหวัด ระหว่างให้ปากคำเจ้าพนักงานก็ทำเหมือนแสดงความเสียใจเอามือเช็ดน้ำตา ทำให้เราเกือบกลั้นน้ำตาไม่อยู่ แม้เหตุการณ์จะผ่านมา 7 ปีแล้วแต่ทุกครั้งที่นึกถึงมันก็เสียใจทุกครั้ง เมื่อให้ปากคำเสร็จเรียบร้อยเจ้าพนักงานคุมประพฤติก็ให้ไปติดต่อกับสำนักงานยุติธรรมจังหวัดเพื่อปรึกษาเรื่องการดำเนินการฟ้องในคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องด้วยคดีอาญา เท่าที่ได้คุยกับพนักงานคุมประพฤติเค้าไม่ทราบเรื่องเกี่ยวกับคดีความ ไม่ทราบเกี่ยวกับกฎหมายและขั้นตอนเท่าไร แต่เค้าก็พยายามแนะนำให้เราไปปรึกษาเพื่อขอทนายความที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เมื่อไปถึงที่สำนักงานยุติธรรมเค้าก็ให้คุยกับทนายความ ทนายความก็เขียนคำร้องขอทนายความให้เพื่อดำเนินการฟ้องแทนเราในคดีแพ่งโดยไม่เสียค่าธรรมเนียมใดๆ พอเขียนเสร็จเรียบร้อยก็ให้เราพบกับเจ้าพนักงานยุติธรรมอีกคนหนึ่ง เค้าก็อ่านคำร้องและคำฟ้องของเราพร้อมกับบอกเราว่าเรื่องนี้สามารถให้อัยการฟ้องแทนได้เลยไม่ต้องใช้ทนายความ ซึ่งเราก็รู้อยู่แล้วจากการศึกษาเองในอินเตอร์เนตเพียงแต่เราไม่รู้ว่าทำยังไงถึงจะไปบอกให้อัยการฟ้องให้เรา เจ้าพนักงานยุติธรรมก็เลยพาเราไปยังศาลากลางจังหวัดซึ่งสามารถเดินไปได้เพราะอยู่ใกล้กันพอเข้าไปเจอกับอัยการเจ้าพนักงานยุติธรรมก็ถามว่า กรณีของเราสามารถฟ้องเรียกร้องสินไหมทดแทนได้หรือไม่ จากการได้รับบาดเจ็บและสามีเสียชีวิต อัยการก็หยิบเอกสารบนโต๊ะมาและก็เปิดดูว่าชื่อเราอยู่ตรงไหน เพราะคำร้องคดีอาญาจะระบุว่า กระทำการประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย เท่านั้น สำหรับเราต้องฟ้องคดีแพ่งเอา ซึ่งเราก็ไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมนี้เลย ไม่มีการเผยแพร่ให้ประชาชนทราบถึงขั้นตอนและวิธีการที่ถูกต้องชัดเจน มีเพียงคำบอกทางโทรศัพท์เท่านั้นที่เรามายื่นคำร้องเรียกสินไหมทดแทนในวันนี้ เพราะเราก็เพิ่งทราบอีกเหมือนกันว่าทางอัยการคดีอาญาท่านนี้ต้องเป็นผู้ออกหนังสือแจ้งไปยังเราผู้เสียหายและพ่อของสามีเราเพื่อให้มาดำเนินการเขียนคำร้องตามกฎหมายแพ่ง มาตรา 44/1 ที่ศาลากลางจังหวัด เมื่ออัยการเห็นว่าเรามาดำเนินการยื่นฟ้องเรียกสินไหมนี้จึงพาเราไปยังห้องอัยการที่เกี่ยวกับคดีแพ่ง เราก็เพิ่งรู้อีกแระว่าอัยการแต่ละคดีเค้าแยกกัน อัยการคดีอาญา ก็ดำเนินการเกี่ยวกับคดีอาญา อัยการคดีแพ่งก็ดำเนินการเกี่ยวกับคดีแพ่ง และกรณีของเราเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ดังนั้น อัยการคดีแพ่งบอกว่าถ้าอัยการคดีอาญาไม่พาเรามาหาในวันนี้เค้าก็ไม่สามารถทราบได้ว่าเค้าต้องดำเนินการอย่างไรในคดีของเราเพราะไม่มีใครส่งเรื่องมาให้ และอัยการคดีแพ่งก็เขียนบันทึกคำร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนให้เราถือไปยื่นต่อศาล เราก็ถามถึงในกรณีของพ่อของสามีด้วยที่เราจะให้เค้าเรียกร้องค่าปลงศพและค่าขาดไร้อุปการะ อันนี้เราก็ศึกษามาเองอีกว่าเราสามารถเรียกร้องอะไรได้บ้างและขั้นตอนวิธีคำนวณเงินคำนวณอย่างไร ไม่มีใครได้บอกให้เราทราบเลยว่าเราต้องคำนวณอย่างไร อัยการแพ่งก็เขียนตามวิธีคำนวณที่เราส่งให้ไป เราจะอ้างกฎหมายทุกอย่าง ว่าเราขอเรียกร้องเงินสินไหมตามประมวลกฎหมายแพ่งมาตราเท่าไร คำนวณเงินได้จากอะไร เค้าก็เขียนของเราลงในใบคำร้องโดยไม่ถามเราสักคำว่าเราเอามาจากไหนอย่างไรถูกหรือผิดอย่างไร จนเราถามเค้าว่าคิดแบบนี้ใช่ไหม เค้าก็บอกว่าก็เรียกร้องไปตามสิทธิ์แต่จะได้ตามนี้หรือไม่ขึ้นอยู่กับศาลจะพิจารณา อันนี้เราก็ทราบดีอยู่แล้วอีกข้อมูลที่หามาแน่นพอ เมื่อทุกอย่างของเราเสร็จลงเราก็โทรให้น้องสาวสามีคุยกับอัยการว่าต้องพาพ่อมาดำเนินการอย่างไรที่ไหน เพราะเราเคยบอกน้องไปแล้วแต่น้องเฉยเรากลัวว่าจะเสียสิทธิ์ แต่ดูเหมือนว่าน้องสาวสามีจะคุยกับอัยการไม่รู้เรื่อง อัยการถามเราว่าเค้าทำงานอะไร เราบอกเป็นอาจารย์คะ คือน้องเค้าจะประมาณว่าชั้นรู้มาแบบนี้คือแบบที่ถามอาจารย์สอนกฎหมายซึ่งมันไม่มีทางจะถูกต้อง มันเป็นแค่ทฤษฎี แต่การปฏิบัติมันต่างกัน เมื่ออัยการเห็นว่าคุยไปก็ไม่รู้เรื่องจึงส่งโทรศัพท์คืนให้เรา เราเลยบอกค่อยคุยกันทีหลังนะ เพราะเราก็รู้ละว่าน้องสาวคงจะคุยไม่รู้เรื่องแน่นอน หลังจากเราได้คำร้องแล้วก็เดินทางไปยังศาลซึ่งก็อยู่ใกล้ๆกันนั่นแระ นี่เป็นครั้งที่สองที่ต้องเข้ามาในศาล ยื่นเสร็จเจ้าหน้าที่ก็ถามว่าทำไมเพิ่งมายื่นไม่มีทนายความหรือ คำถามนี้ทำให้เรารู้ว่าเจ้าหน้าที่ก็คงไม่รู้วิธีนี้แน่ เราเลยบอกว่าไม่มีคะแล้วก็เพิ่งทราบเรื่องจากคุมประพฤติว่าจับคนผิดได้ เจ้าหน้าที่เลยบอกว่าให้เรามาฟังผลการพิจารณาด้วยนะ ทราบห้องพิจารณาหรือไม่เราก็บอกว่าไม่ทราบอะไรเลยคะทราบเพียงวันที่ 24 ที่จะถึงนี้เท่านั้นจากการบอกของเจ้าพนักงานคุมประพฤติ เราพอรู้ว่าอัยการคดีอาญาต้องทำเรื่องส่งให้เราแต่อัยการบอกว่าไม่ทราบว่าเรื่องตกหล่นที่ไหน แค่นั้น พอยื่นเรื่องที่ศาลเสร็จก็ขับรถกลับกรุงเทพมหานคร เหนื่อยมากคะ แล้วจะเรียบเรียงขั้นตอนที่ถูกต้องในกรณีนี้อีกครั้งเพื่อเผยแพร่ให้คนอื่นทราบต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น